คำถาม : ลูกสาวอายุ 3 ปี เคยไข้สูงแล้วชัก มา 2 ครั้งแล้ว จะมีปัญหากับสมองหรือเปล่าค่ะ ?
ตอบ : ภาวะชักจากไข้สูงหรือ febrile seizure, febrile convulsion นั้นเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก อุบัติการพบประมาณ 2-5 % ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี แต่ในบางกลุ่มของประชากรมีรายงานสูงถึง 15 %
ข้อบ่งบอกในการวินิจฉัย มีดังนี้ :
1.โดยส่วนใหญ่จะเกิดร่วมกับภาวะไข้ที่มักสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
2. อายุมักน้อยกว่า 6 ปี(จากรายงานอ้างอิงพบอยู่ในช่วง ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 6 ปี
หรือแตกต่างกันไปเล็กน้อยแล้วแต่แหล่งที่มา)
3.การชักส่วนใหญ่เป็นแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว เท่า ๆ กันทั้งซ้ายขวา(generalized tonic clonic)
4.ไม่มีโรคติดเชื้อของระบบประสาทหรือสมองส่วนกลางร่วม
5.ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความผันผวนของเกลือแร่และสารนำในร่างกาย
6.ไม่เคยมีประวัติในอดีต ว่าเด็กเคยมีภาวะชักโดยไม่มีไข้มาก่อน
การแบ่งกลุ่ม :
ในปัจจุบันเพื่อง่ายต่อความเข้าใจเราแบ่งภาวะชักจากไข้สูงออกเป็นสองสาเหตุหลักคือ
การชักจากไข้สูงที่ไม่ได้มีอันตราย(simple febrile seizure) ซึ่งจะชักตามหลังจากไข้สูง ชักไม่นานกว่า 15 นาที ไม่มีการชักแบบเฉพาะที่(focal seizure) เช่น ขาหรือแขนกระตุกข้างใดข้างหนึ่ง และเด็กมักหลับหรืออ่อนเพลียหลังจากมีอาการชัก(post ictal phase)โดยถ้ามีการชักซ้ำก็ไม่ควรติดต่อกันนานกว่า 30 นาที หรือไม่รู้สติเลยในระหว่างการชักซ้ำ ๆ นั้น
อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มชักจากไข้สูงที่มีอันตราย(complex febrile seizure)ในกลุ่มนี้มักชักนานกว่า 15 นาทีม อาจชักกระตุกเฉพาะที่ เช่น แขน ขาข้างใดข้างหนึ่ง มีแขนขาอ่อนแรงหลังจากชัก(post ictal paralysis) และถ้าชักซ้ำ ๆ อาจติดต่อกันนานกว่า 30 นาที ในกลุ่มนี้อาจเป็นโรคลมชัก๖หรือ เราชอบเรียกกันว่าลมบ้าหมู)ที่ซ้อนเร้นและถูกกระตุ้นจากภาวะไข้ โดยบางครั้งในกลุ่มนี้การชักมักไม่ค่อยสัมพันธ์กับความรุนแรงหรือสูงของไข้
สาเหตุการเกิดและพยาธิสภาพของการเกิด :
มักพบอยู่ในช่วง ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 6 ปี และเกิดบ่อยในช่วงอายุ 12-18 เดือน มักเกิดขณะที่ไข้ขึ้นสูงโดยที่สาเหตุของอาการไข้ที่เป็นสาเหตุ อาจมีสาเหตุมาจาก
1.การติดเชื้อทั่วไป เช่น การเป็นหวัดเจ็บคอ คอหรือหลอดลมอักเสบ ซึ่งสาเหตุเกิดได้ทั้งไวรัส(พบมากกว่า)และแบคทีเรีย โดยสาเหตุที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่เป็นไวรัสไข้หวัด(influenza) หรือ parainfluenza (พบราว 16-20 %) , ไวรัส RSV(พบราว 4-5 %) โดยที่ไม่มีนัยสำคัญว่าไวรัสตัวไหนมีสัมพันธ์หรือเป็นสาเหตุกับภาวะชักจากไข้สูงชัดเจน แต่ก็มีรายงานว่าเกิดจากเชื้อตระกูลเริม(human herpes virus type 6) ได้สูงในกลุ่มที่เป็นชักแบบอันตรายและในกลุ่มที่ชักซ้ำ (complex and recurrence febrile seizure)
2.การฉีดวัคซีน มีรายงานว่ามีความสัมพันธ์กับการให้วัคซีนป้องกัน คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก ชนิด whole cell(DTP) และ วัคซีนป้องกัน หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม(MMR) มากกว่าชนิดอื่น มีการวิจัยศึกษาว่าโอกาสเกิดไข้สูงและชักจากไข้สูงสำหรับวัคซีนป้องกัน คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก ชนิด whole cell(DTP) ส่วนใหญ่มักเกิดในวันแรกที่ได้รับวัคซีน สำหรับ วัคซีนป้องกัน หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม(MMR) มักเกิดในช่วง 1-2 อาทิตย์หลังได้รับวัคซีน โดย มี relative risk เท่ากับ 5.7 และ 2.8 ตามลำดับ (5) แต่ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก ชนิดที่เป็น acelular (DTPa) ทำให้มีไข้น้อยลงหลังจากรับวัคซีนและโอกาสเกิดชักจากไข้สูงก็มีอุบัติการลดลงไปด้วยเมื่อใช้วัคซีนชนิดนี้
3. ปัจจัยกระตุ้น:
3.1 เดิมเชื่อกันว่าสาเหตุเกิดจากการที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่เป็นสาเหตุให้เกิดการชักจากไข้สูง ปัจจุบันมีความเชื่อว่าอาจมีความผิดปกติของสารสื่อประสาทบางชนิด(neurotransmitter) เช่นพบว่าสาร GABA(gamma-aminobutyric acid)ในน้ำไขสันหลังลดลง ในกลุ่มเด็กที่การชักจากไข้สูง ซึ่งยังคงต้องการการศึกษาต่อเนื่องต่อไป ในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังพบว่ามี สาร neopterin สูงขึ้น(neopterin สร้างจากเซล activated macrophages ที่ใช้สำหรับป้องกันโรคหรือสิ่งแปลกปลอม) จึงเชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงในด้านภูมคุ้มกันของระบบประสาทส่วนกลาง (6)
3.2 มีการสันนิษฐานว่าภาวะขาดธาตุเหล็กอาจเป็นสาเหตุของการเกิดไข้สูงแล้วชัก โดยพบว่ากลุ่มที่ชักมักซีดและขาดธาตุเหล็กมากกว่าซึ่งต้องการศึกษาค้นคว้าต่อไป
3.3 พันธุกรรมหรือยีน เป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ในการบอกว่าเด็กมีโอกาสที่จะชักจากไข้สูงหรือมีโอกาสเป็นลมชักตามมา พบว่า 10-20% ของการพบการชักจากไข้สูงพบว่ามีประวัติการชักในญาติสายตรงเช่นกัน และแฝดแท้มีโอกาสที่จะชักมากกว่าแฝดเทียมหากมีประวัติครอบครัวที่มีอาการชักจากไข้สูงเหมือนกัน ปัจจุบันพบว่ายีนที่ทำการถ่ายทอดภาวะชักจากไข้สูงนั้นอยู่บนโครโมโซมแขนยาวคู่ที่ 8 (chromosome 8q13-21: FEB1) (7) , โครโมโซมแขนสั้นคู่ที่ 19 (chromosome 19p: FEB2) , โครโมโซมแขนยาวคู่ที่ 2 (chromosome 2q23-24 : FEB3) , โครโมโซมแขนยาวคู่ที่ 5 (chromosome 5q14-15 : FEB4) , โครโมโซมแขนยาวคู่ที่ 6 (chromosome 6q22-q24 : FEB5) และ โครโมโซมแขนยาวคู่ที่ 21( chromosome 21q22) หรือ มีการถ่ายถอดลักษณะแฝงโดย autosomal dominant fashion ซึ่งหลายการศึกษาสนับสนุนเรื่องการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างเห็นได้ชัด และที่น่าสนใจคือกลุ่มที่รายงานถึงกลุ่มอาการ generalized epilepsy with febrile seizures plus (GEFS+) ซึ่งเป็นสิ่งใหม่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้
3.4 มีความผิดปกติของสมองร่วมด้วยหรือไม่ ? เป็นคำถามที่พ่อแม่ทุกคนอยากรู้ เราพบว่าอาจมีความผิดปกติบริเวณสองส่วนฮิบโปแคมปัล (Hippocampal lesions)เป็นการพบโดยบังเอิญจากการศึกษาโดยการทำเอ็กซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในกลุ่มผู้ป่วยชักจากไข้สูง พบว่าสาเหตุอาจเกิดจากการที่มีขนาดของสมองส่วนฮิบโปแคมปัลที่เล็กกว่าอีกข้างหนึ่ง แต่เป็นเพียงข้อสมมติฐานเพราะการพบอาจเชื่อมโยงไปถึงการพยากรณืโอกาสการชักภายหลังได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ค่อยพบภาวะนี้ในผู้ป่วยที่ชักจากไข้สูงเมื่อเราทำเอ็กซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าภายหลัง ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงสรุปว่าผู้ป่วยรายใดถ้าพบว่ามีความผิดปกติของสมองในส่วนฮิบโปแคมปัล ก็มีโอกาสที่จะเป็นภาวะลมชักหรือลมบ้าหมูตามมาภายหลังมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีความผิดปกติ ในปัจุบันนอกจากทฤษฎีที่เชื่อในเรื่องของพัฒนาการของสมองที่ยังไม่เต็มที่ในเด็ก(immaturity)และการลดลงของ thershold ของคลื่นสมองซึ่งทำให้เกิดการชักได้ง่ายขึ้นแล้ว พบว่าเมื่อชักจากไข้สูงโดยที่ระยะเวลาในการชักไม่นานนั้น ไม่ค่อยก่อให้เกิดความผิดปกติของสมองตามมา ดังนั้นผู้ปกครองไม่ควรกังวลมากเกินไปแต่ควรรู้จักที่จะช่วยเหลือหรือการเยียวยาเบื้องต้นเมื่อเด็กเกิดภาวะชักจากไข้สูง ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญอย่างยิ่ง
อาการและอาการแสดง :
อย่างแรกเราจะรู้ได้อย่างไรว่าชัก ?
เป็นคำถามที่แพทย์มักถาม สิ่งสังเกตุคือ เด็กมีอาการเกร็ง กระตุก ทั้งตัวหรือบางส่วน ตาลอย เหลือกหรือกระตุกตามไปกับอาการชัก น้ำลายฟูมปาก(บางราย) ริมฝีปาก-ปลายมือปลายเท้าเขียว เรียกไม่รู้สึกตัว ปัสสาวะอุจจาระราด ชักราวกี่นาที ผู้ปกครองควรตั้งสติให้ดีและสังเกตุอาการเหล่านี้ไปพร้อมกับการช่วยเหลือเบื้องต้น บ่อยครั้งหากเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกผู้ปกครองมักตื่นเต้นทำอะไรไม่ถูก จำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อเกดซำจะใจเย็นมีสติและให้การรักษาได้ดีกว่าหนแรกเสมอ ดังนั้นถ้ามีอาการชักควรนำเด็กมาตรวจที่ รพ. เสมอ เพราะบางครั้งการดูอาการอาจทำให้การชักแบบไม่มีอันตราย(simple febrile seizure) กลายเป็นชนิดที่ชักแบบมีอันตราย(complex febrile seizure) หรือชักรุนแรงแบบชักไม่หยุดซึ่งนานกว่า 30 นาทีหรือไม่รู้สติเลยในระหว่างการชักซ้ำ ๆ นั้น(status epilepticus) โดยส่วนใหญ่มักจะชักในวันแรกที่มีไข้ และไข้มักจะสูงอยู่ประมาณ 38ºC หรือ 39ºC สำหรับการชักรอบแรก ส่วนการชักซ้ำนั้นไข้ไม่จำเป็นที่จะต้องสูงมากนัก
การวินิจฉัยแยกโรค : ได้แก่
1. อาการหนาวจากไข้ (Shaking chills )ซึ่งไม่ใช่ภาวะชักจริง โดยจะไม่มีอาการดังต่อไปนี้ เช่น เด็กมีอาการเกร็ง กระตุก ทั้งตัวหรือบางส่วน ตาลอย เหลือกหรือกระตุกตามไปกับอาการชัก น้ำลายฟูมปาก(บางราย) เรียกไม่รู้สึกตัว ปัสสาวะอุจจาระราด สาเหตุของอาการหนาวจากไข้ (Shaking chills )เกิดจากภาวะที่อุณหภูมิกายสูงแล้วลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นจากากรเช็ดตัว หรือจากยาลดไข้ จับแล้วมักจะหยุดและเด็กจะรู้ตัวดี
2. การไม่สมดุลของเกลือแร่และสารน้ำในร่างกายโดยส่วนใหญ่มักไม่ค่อยพบความผิดปกติของสารน้ำและอิเล็กโตรไลต์ในผู้ป่วยไข้สูงแล้วชัก แต่ควรต้องนึกถึงในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการอาเจียน ท้องเสียและมีอาการขาดน้ำ กินอาหารไม่ได้ ก็อาจพบความผิดปกติของสารน้ำและอิเล็กโตรไลต์ได้ โดยพาะอย่างยิ่งภาวะเกลือแร่ชนิดโซเดียมต่ำหรือสูงก็ทำให้เกิดอาการชักได้เช่นกัน
3.ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมองอักเสบ มักนึกถึงในเด็กที่มีอาการไข้ร่วมกับอาการชัก พบว่า 40 % ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอาการนำด้วยอาการชักโดยเฉพาะในเด็กเล็ก โดยที่ตรวจไม่พบอาการระคายเคืองของเยื้อหุ้มประสาท คอเกร็งแข็งเวลาตรวจ(meningeal irritation sign) จึงเป็นเหตุผลที่แพทย์มักแนะนำให้เจาะตรวจน้ำไขสันหลังในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ½ ปี ที่มาด้วยอาการไข้สูงและมีอาการชัก และมีข้อสังเกตว่าการไข้ร่วมกับชักซ้ำบ่อย ๆในครั้งเดียวหรือการเกิดภาวะไข้และอาการชักไม่หยุด(status epilepticus)มักเกิดจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่
การวินิจฉัย :
คำแนะนำจาก American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำว่าควรเจาะตรวจน้ำไขสันหลังในเด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือนที่มาด้วยอาการไข้สูงและชักทุกราย และบางรายงานสนับสนุนว่าควรทำอย่างยิ่ง ถ้าไข้สูงและชักหลังจากวันที่สองของไข้ขึ้นไปเมื่อแพทย์ไม่สามารถตัดภาวะเยื้อหุ้มสมองอักเสบออกได้ ภาวะชักไม่หยุด(status epilepticus)เป็นข้อบ่งชี้ในการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง การเจาะตรวจในผู้ป่วยที่ชักจากไข้สูงทุกรายไม่แนะนำ การเจาะเลือดเพื่อตรวจสารน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือด แคลเซียม BUN/Cr มักไม่ค่อยพบว่าผิดปกติ โดยแนะนำว่าควรทำในผู้ป่วยที่มีภาวะอาเจียน ท้องเสีย ขาดน้ำ การส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แนะนำให้ทำถ้าเด้กมีขนาดศีรษะโตใหย่กว่าปกติ หรือกระหม่อมหน้าโป่งตึงร่วมกับมีความผิดปกติทางระบบประสาทจากการตรวจ หรือการชักแบบแขนหรือขากระตุกข้างเดียว หรือเด็กมีอาการของความดันในสมองสูง ปวดหัว อาเจียนพุ่ง การตรวจคลื่นสมอง(electroencephalography: EEG) ไม่จำเป็นต้องทำทุกราย การตรวจหลังจากชักในระยะเวลาสั้น ๆ อาจพบผลบวกได้ จึงควรส่งตรวจเมื่อเวลาเหมาะสม นอกจากนี้การตรวจคลื่นสมองไม่สามารถพยากรณ์การเกิดซ้ำของโรค หรือการเกิดภาวะชักซ้ำโดยไม่มีไข้ได้
การรักษา :
1.ข้อแนะนำในการปฏิบัติของผู้ปกครอง :
1.1 อย่าตกใจ ตั้งสติให้ดีก่อน
1.2 จับผู้ป่วยนอนตะแคงบนพื้นราบ ที่ไม่มีของแข็ง ซึ่งอาจกระแทกตัวผุ้ป่วยให้เกิดอันตรายได้
1.3 หากมีลูกยางแดง ให้ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำลาย เสมหะออกจากปาก เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง
1.4 ไม่ควรเอาช้อนหรือไม้กดลิ้นงัดปากผู้ป่วยขณะชัก เพราะเป้นการเพิ่มการบาดเจ็บให้ผู้ป่วย เช่น ฟันหัก ฟันหลุด เศษฟันอาจพลัดตกลงไปอุดหลอดลมทำให้หายใจไม่ออกได้ โอกาสที่ผุ้ป่วยจะกัดลิ้นตนเองจนขาดนั้นน้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่มักเป้นแค่กัดส่วนปลาย ๆ ลิ้น หากเทียบกับการงัดโอกาสที่ลิ้นจะถูกช้อนหรือไม้กดลิ้นดันทำให้เกิดความบอบช้ำมากกว่า
1.5 ไม่ควรจับยึดตัวผู้ป่วยขณะชัก หรือพยายามยึดฝืนต่ออาการชักเพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น ไหล่หลุด กระดูกแขนขาหักได้ เป้นต้น
1.6 ถ้าผู้ป่วยมีอาการชักอยู่นานจนหยุดหายใจ และริมฝีปากเขียว ควรทำการช่วยหายใจ โดยวิธีพื้นฐาน ปาก ต่อ ปากช่วยในการหายใจ
1.7 โดยส่วนใหญ่การชักที่เกิดขึ้นถ้าไม่นานกว่า 3-5 นาที โอกาสที่จะเกิดอันตรายถาวรต่อสมองมีน้อยมาก แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการชักอยู่นานหรือชักติดกันไม่หยุด หรือชักโดยที่ไม่รู้สึกตัวเลยควรรีบพาส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการชักเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ และหยุดชักเอง มีการฟื้นตัวสติกลับมาเป็นปกติ รวดเร็ว ควรรีบนำมาปรึกษาแพทย์โดยไม่รีบด่วนมาก
2.ข้อแนะนำสำหรับแพทย์ทั่วไป
1 ภาวะชักจากไข้สูง นานกว่า 3-5 นาที ควรได้รับการรักษา โดยรีบประเมิน เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง หรือช่วยหายใจหากจำเป็น ประเมินภาวะไหลเวียนโลหิต ก่อนทำขั้นตอนอื่น ควรเจาะเลือดเพื่อส่งเลือดระดับของเกลือแร่และสารน้ำอิเล็กโตรไลต์ และระดับน้ำตาลในเลือด ควรรีบหยุดการชักโดยการให้ยากันชัก เช่น diazepam ในขนาด 0.2-0.3 มก. ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ทางหลอดเลือดดำ หรือในขณะที่ไม่สามารถเปิดเส้นเลือดเพื่อให้ยาหรือสารน้ำได้อาจให้ทางทวารหนัก โดยการสวนเหน็บยา diazepam ในขนาด 0.5-0.75 มก. ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมสวนให้ทางทวารหนัก สามารถให้ซ้ำได้ทุก 3-5 นาที คอยหมั่นระวังเรื่องผลข้างเคียงของยาต่อการกดระบบการหายใจ หากผู้ป่วยหยุดหายใจควรช่วยหายใจโดย positive pressure ventilation หรือใส่ท่อหลอดลมช่วยหายใจ
2 หากการชักยังคงดำเนินต่อไป ควรเลือกให้ยากันชักชนิด Phenobarbital ในขนาด 15-20 มก.ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมทางหลอดเลือดดำ ถ้ายังไม่หยุดชักให้เปลี่ยนกลุ่มยากันชักเป็น phenytoin(dilantin) ในขนาด 18-20 มก.ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมทางหลอดเลือดดำหลังจากนั้นอาจให้ในขนาด maintenance ต่อ
3.พยายามลดไข้ โดยให้ยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่น ๆ เล็กน้อยหรืออาจใช้น้ำก๊อก หากฉุกระหุกหาไม่ทัน
4.รับตัวผุ้ป่วยไว้ใน รพ. พิจารณาตรวจน้ำไขสันหลัง และการตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น
5.อธิบายให้ญาติทราบสาเหตุคร่าว ๆ และขั้นตอนการรักษา
พยากรณ์โรค :
เป็นเรื่องที่พ่อแม่กังวลและสงสัยกัน มีข้อเท็จจริงดังนี้ การชักซ้ำจากไข้สูง พบว่าอุบัติการณืดดยรวมประมาณ 30-35 % การชักซ้ำจะสูงขึ้นหากพบภาวะชักจากไข้สูงในผู้ป่วยอายุน้อย โดยพบว่าโอกาสชักซ้ำประมาณ 50-65% ถ้าผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 1 ปี และ พบอุบัติการณ์การชักจากไข้สูงลดลงเหลือราว 20 % หากผู้ป่วยชักในช่วงอายุมาก จากการศึกษาที่มีการติดตามผุ้ป่วยระยะยาว พบว่าประมาณ 33 % ชักซ้ำจากไข้สูง โดยพบอาการชักซ้ำจากไข้สูงอย่างน้อยหนึ่งครั้งประมาณ 17 % ชักซ้ำจากไข้สูงอย่างน้อยสองครั้ง 9 % และ ชักซ้ำมากกว่าสามครั้งพบราว 6 % โดย 50-75 % พบว่าชักซ้ำภายในหนึ่งปี และมักเกิดภายในสองปีแรกหลังชักหลังจากนั้นพบอุบัติการณ์น้อยลง พบว่ามีปัจจัย 4 ประการที่มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของการชักซ้ำคือ ชักครั้งแรกตอนอายุน้อย มีญาติสายตรงมีประวัติชักจากไข้สูง ชักโดยที่อุณหภูมิของไข้ที่วัดในห้องฉุกเฉินไม่สูงมาก และระยะจากอาการที่ผู้ป่วยมีไข้จนมีอาการชักสั้นมาก โดยเพิ่มโอกาสการเกิดการชักซ้ำถึง 70 % หากมีปัจจัยเสี่ยงทั้งสี่ข้อนี้
ภยันตรายที่เกิดกับสมองที่ตามมาหลังจากการมีอาการชักจากไข้สูง(Neurologic sequelae)
โดยในที่นี้รวมทั้งความผิดปกติทางระบบประสาท สติปัญญา พฤติกรรมผิดปกติ พบได้น้อยมาก ๆ ใน การชักจากไข้สูงชนิดไม่อันตราย(simple febrile seizure) รายงานจาก โครงการ National Collaborative Perinatal พบว่าประมาณ 5 % ของเด็กที่มีอาการชักจากไข้สูงนานกว่า 30 นาที เมื่อติดตามไปไม่พบความผิดปกติทางสมองถาวรทั้งในด้าน การพัฒนาของระบบกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ด้านจิตใจ ในประเทศอังกฤษก็มีการศึกษาในรูปแบบเดียวกันแต่ให้ความสนใจในด้านการเรียนรู้ การศึกษาของผู้ป่วยโดยประเมินวัดที่อายุ 10 ปี พบว่าไม่มีความแตกต่างจากเด็กปกติ แม้กระทั่งในด้านพฤติกรรม
การให้ยาป้องกันการชักเวลามีไข้ให้ประโยชน์หรือไม่ ?:
การให้ยาป้องกันการชักเวลามีไข้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน สำหรับการให้ยาป้องกันการชักจากไข้สูงในระยะยาว โดย AAP ให้อิงตามเหตุผลของ risk และ benefits ของประสิทธิภาพการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการให้ยากันชักระยะยาว เช่นการให้ Phenobarbital กินเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี หรือการให้ยากลุ่ม benzodiazepine ในการป้องกันแบบระยะสั้น( intermittent prophylaxis)
โดยต้องคำนึงถึงความวิตกกังวลของผู้ปกครองก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจเลือกใช้ จากการทบทวนการศึกษาวิจัยพบว่าการให้ยา Phenobarbital หรือ valproic acid(depakin) มีบทบาทในการช่วยลดอุบัติการชักซ้ำจากไข้สูงได้เป็นอย่างดี ตรงกันข้ามหลาย ๆ การศึกษาเปรียบเทียบการป้องกันแบบ intermittent prophylaxis (โดยให้ 0.33 mg/kg ทุก 8 ชม. ในระหว่างวันถึงสองวันแรกของการมีไข้)กลับพบว่าไม่ได้ให้ผลแตกต่างจากการให้ยาหลอก(placebo) แต่ช่วยลดความกังวลของผู้ปกครอง การให้ยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวช่วยลดไข้ให้ผลในการช่วยลดการชักจากไข้สูงได้อย่างมาก แต่การให้ยาลดไข้เพื่อลดไข้ได้ผลน้อยในกลุ่มที่มีอาการชักซ้ำจากภาวะไข้สูง
อาจารย์นายแพทย์ ศักดา อาจองค์, พบ, บธบ.
SAKDA ARJ-ONG, MD, BBA
PHD program of clinical epidemiology,
Pediatrist, Pediatric Cardiologist & Intervention Ped.Cardiology
Family physicians, Emergency physicians.
Emergency Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University
สำหรับยา intermittent prophylaxis ควรให้หรือไม่ควรให้กันแน่ ก็สงสัยเหมือนกัน วันก่อนเรายังถามหมอเด็กที่ รพ.ศูนย์การแพทย์ฯ เลย ได้คำตอบว่าไม่ควรให้ บอกว่าหมอ neuro ก็ไม่นิยมให้ ส่วนตรงที่เขียนว่า intermittent prophylaxis หมายถึงยา Phenobarb หรือยา Depakin หรือค่ะ ?
ตอบลบสำหรับยา intermittent prophylaxis ควรให้หรือไม่ควรให้กันแน่ ก็สงสัยเหมือนกัน วันก่อนเรายังถามหมอเด็กที่ รพ.ศูนย์การแพทย์ฯ เลย ได้คำตอบว่าไม่ควรให้ บอกว่าหมอ neuro ก็ไม่นิยมให้ ส่วนตรงที่เขียนว่า intermittent prophylaxis หมายถึงยา Phenobarb หรือยา Depakin หรือค่ะ ?
ตอบลบintermittent prophylaxis หมายถึงยาไดอะซีแพม(DZP) ครับ ส่วนใหญ่แพทย์ตอบตามหลักฐานนะ เพราะมี paper สักสามอันที่ออกมาภายหลังว่าว่าไม่ต้องให้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากคนไข้อยู่ไกล ๆ เข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ยาก หรือมีโอกาสชักซ้ำสูง ก็อาจต้องให้คำแนะนำ ประเมินผลได้ผลเสีย และอธิบายให้พ่อแม่ผู้ปกคองทราบผลข้างเคียงของยาอย่างชัดเจนครับ เช่น อาจง่วง เหรือเดินโซเซเล็กน้อย ต้องคอยดูแลใกล้ชิด และสามารถหยุดหลังจากไข้ลดลงดีแล้วสัก 24-48 ชั่วโมงครับ
ตอบลบเนื้อหาของคุณหมอละเอียดมากเลยค่ะ แต่ฉันยังมีความสงสัยว่า anatomyของการเกิดโรค febrile seizureนั้นมันเกิดจากความผิดปกติของhypotaramus รึเปล่าค่ะ คือหนูมีความสับสนanatomyของการเกิดของโรคน่ะค่ะ ถ้าเราจะต้องอธิบายให้คนเขาใจถึงที่มาของโรคนี้โดยกล่าวถึงanatomyของร่างกายคนเรา เราต้องบอกถึงส่วนไหนที่มันผิดปกติค่ะ...ช่วยอธิบายให้หน่อยนะค่ะ นักศึกษาพยาบาลAU
ตอบลบตอบคุณวรานุช intermittent prophylaxis โดยส่วนใหญ่หมายถึงยากลุ่ม Bezodiazepine ซึ่งต้องเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น Diazepam ที่เราใช้กันบ่อย ๆ มักใช้ 1-2 mg/kg/day ส่วนกลุ่มยาที่ถามมักเป็นการใช้โดย authority/expert ใช้นะครับเช่นการเพิ่ม dose ยาขึ้น ก็จะมีผลทำให้ vd(volume distribution) หรือระดับยาในกระแสโลหิตสูงขึ้นกว่าเติม ซึ่งมักต้องกินยาชนิดนั้น ๆ อยู่แบบ long term ก่อนหน้านั้นอยู่แล้วน่ะครับ
ตอบลบส่วนน้องพยาบาล AU ตอบแบบง่าย ๆ นะครับ มีหลายทฤษฎีที่กล่าวถึงสาเหตุความผิดปกติของการชัก การชักนั้นเชื่อว่ามีความผิดปกติจากหลาย ๆส่วนไม่ใช่เฉพาะที่ hypothalamus อย่างเดียวอย่างที่เข้าใจ เชื่อกันว่า biochemical process ในระดับเซลมีส่วนสำคัญที่ไปกระตุ้นให้เกิด neuronal hyperexitability(การทำงานมากเกินไป หรือไวไป)ซึ่งเชิงลึกอาจอธิบายลงไปถึงระดับ gate channal ของเซลประสาทซึ่งอาจเกิดความไม่สมดุล และยังเกิด neuronal hypersynchrony (การไม่ประสานงานกันเป็นอย่างดีสำหรับเซลประสาท) และเชื่อว่า single neuron ที่ปล่อยกระแสที่ผิดปกติ(discharging abnormally)นั้นไม่พอจะทำให้เกิดอาการชักได้ต้องอาศัยความผิดปกติของเซลกลุ่มใหญ่พอสมควร ส่วนการชักจากไข้สูงในเด็กนั้นอีกทฤษฎีหนึ่งที่เข้ามาเสริมคือ immaturity ของเซลสมองนั่นเอง
ตอบลบไดอะซีแพม มีผลข้างเคียงอื่นๆมั้ยค่ะ หมายถึงผลระยะยาวหนะคะ
ตอบลบลูกอายุ 13 เดือน ชักครั้งแรก เพราะไข้สูงแต่นานประมาณ 15 นาที คราวนี้เลยกังวลว่าถ้าเกิดมีไข้อีก พ่อแม่ควรระวังและปฏิบัติอย่างไรไม่ให้ลูกชักซ้ำคะ
ตอบลบลูกสาวชักตอน 11 เดือน และชักซ้ำตอน 1ปี 5เดือน และ 3 ปี 2 เดือน แม่เคยชักและน้องสาวพ่อเคยชักด้วยอย่างนี้ต้องปรึกษาแพทย์ไหมค่ะ ต้องเจาะน้ำไขสันหลังหรือสแกนสมองรึเปล่า
ตอบลบ