วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ร้อนนี้ ร้อนกาย ทำอย่างไรไม่ให้ร้อนใจ มารู้เท่าทันและเตรียมตัวสู้กับ 7 โรค ฮิตที่มากับหน้าร้อนนี้ กันเถอะ

ปีนี้ถึงแม้อากาศจะเปลี่ยนแปลงร้อนๆ หนาวๆ ไม่คงที่ แต่ยังไงประเทศไทยที่เป็นประเทศที่อยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร อย่างไรก็คงหนีไม่พ้นอากาศร้อนในช่วงฤดูร้อนนี้ไม่ได้ แน่นอนอากาศคงจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ตามกระแสของโลกของเราที่ร้อนขึ้นทุก ๆ วัน หากทุก ๆ ประเทศในโลก ยังคงไม่ตระหนักหรือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุกัน ปัญหาที่พบกันบ่อย ๆ กันในแง่ของมุมมองสุขภาพก็คือปัญหาการเกิดโรคภัยต่าง ๆ รวมถึงโรคติดเชื้อ นั้นก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าหน้าหนาว หรือฤดูอื่น ๆ เลยทีเดียว ดังนั้นหากเราไม่รู้เท่าทันหรือไม่รักษาสุขภาพกัน ก็อาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายในช่วงหน้าร้อนที่จะมาถึงนี้

โรคที่พบบ่อย ๆ มีทั้งกลุ่มโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่เป็นผลพวงมาจากอากาศที่ร้อนจัดนี้ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคไข้หวัดหน้าร้อน โรคผิวหนัง โรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยง โรคหรือภาวะที่เป็นผลกระทบโดยตรงจากอากาศร้อน เช่น โรคเครียด การเป็นลมหมดสติจากอากาศร้อนจัด เป็นต้น

1.โรคอุจจาระร่วงหน้าร้อน

สาเหตุ เกิดได้จากการติดเชื้อหลายประเภททั้ง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือกลุ่มเชื้อโปรโตซัว ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่มีโอกาสบูดเสียได้ง่ายมากขึ้นในอากาศที่ร้อนจัด ขึ้น และเมื่อร่วมกับสุขอนามัยที่ไม่สะอาดแล้วสามารถเกิดการระบาดของโรคอุจจาระ ร่วงหน้าร้อนนี้ ในชุมชนหรือในวงกว้างได้ง่ายดาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักสามารถให้การดูแลรักษาเยียวยาได้ไม่ยากหากมาพบแพทย์ แต่เนิ่น ๆ แต่ก็ควรระวัง เพราะเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่เป็นสาเหตุสามารถทำให้เกิดอาการท้องร่วง รุนแรง มีอาการขาดน้ำ สูญเสียเกลือแร่จากร่างกายได้มากจากการถ่ายหรืออาเจียน ซึ่งก็คือเชื้ออหิวาตกโรค (Vibrio Cholera) ซึ่งประเทศไทยเคยประกาศว่าไม่เกิดโรคนี้แล้ว แต่ในความเป็นจริงก็ยังพบว่าเกิดการติดเชื้อได้ในบางท้องที่ในช่วงหน้าร้อน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จากเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่นเชื้อบิด(dysentery) โรคไทฟอยด์(Typhiod) โรคพาราไทฟอยด์(Paratyphiod) และโรคไข้เอนเทอริก(Enteric Fever) รวมถึงยังพบว่าเชื้อไวรัสหลายตัวเป็นสาเหตุได้เช่นกัน เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสคอกซากี ไวรัสโรต้าซึ่งนอกจากจะระบาดเกือบทุกฤดูแล้ว ก็ยังพบว่าระบาดมากในหน้าร้อน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็กซึ่งมักพบบ่อยและบางครั้งติดต่อมายังผู้ใหญ่ อย่างเราได้ง่ายเช่นเดียวกัน ในบางครั้งถ้าอาการไม่รุนแรงก็สามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตนเองได้ เช่น การรับประทานผงเกลือแร่ผสมน้ำดื่มเพื่อชดเชยอาการขาดน้ำ สูญเสียเกลือแร่ หากรู้สึกว่าอาการไม่ดีขึ้นก็ควรมาพบแพทย์ เพราะเชื้อแบคทีเรียบางชนิดจำเป็นต้องได้รับ ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษา และที่สำคัญไม่ควรซื้อยาประเภทเพื่อให้หยุดถ่ายด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เกิดอาการมากขึ้นจนถึงกับต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนสาเหตุที่เกิดจากเชื้อไวรัสมักไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพียงให้การรักษาประคับประคองก็อาจเพียงพอ แต่ควรระวังในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด โรคระบบไต หรือโรคที่ภูมิต้านทานไม่ปกติก็ควรมาพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ จะปลอดภัยกว่า

2.โรคอาหารเป็นพิษ

จริง แล้วก็จัดเป็นกลุ่มโรคติดต่อในระบบทางเดินอาหารด้วยเช่นเดียวกัน แต่ที่แยกออกมา เพราะพบได้มากเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน สาเหตุเกิดจากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ(toxin) ที่สร้างโดยเชื้อแบคทีเรีย เช่น กลุ่ม toxin จากเชื้อบิด (shigella),เสต็ปโตคอกคัส (staphylococcus aureus), บาซิลลัส (bacillus cerius) ซึ่งมักเป็นสารที่ทนความร้อน พบบ่อยในอาหารประเภทไส้กรอก กุนเชียง ข้าวผัดต่าง ๆ ในบางครั้งถึงแม้เราพยายามจะกินอาหารที่สุก ร้อน แต่หากส่วนผสมก่อนนำมาปรุงอาหารเกิดอาการบูดเสียก่อน ก็จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ หรือปวดเมื่อยอ่อนเพลีย จนถึงท้องร่วงจากสารพิษที่ทนความร้อนซึ่งสร้างโดยเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม นี้(heat stable toxin) โดยส่วนใหญ่ดังที่กล่าวไปเนื่องจากเป็นสารที่แบคทีเรียสร้าง แต่ไม่มีตัวเชื้อที่มีชีวิต การรักษาโดยวิธีประคับประคอง ร่วมกับเมื่อผู้ป่วยอาเจียนหรือถ่าย ระบายสารพิษที่มีผลต่อร่างกายออกไปแล้ว อาการมักดีขึ้นและสามารถหายเองได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการจะเกิดประมาณ 6-12 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ คลื่นใส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วงตามมา หากพบว่าบางรายมีอาการมากเช่น มีอาการขาดน้ำมาก ปวดท้อง หรืออ่อนเพลียมาก รับประทานสารน้ำเกลือแร่หรืออาหารไม่ได้ ก็ควรมาปรึกษาแพทย์

3.โรคไข้หวัดหน้าร้อน

เป็น โรคที่พบได้บ่อย สาเหตุมาจากเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ซึ่งแม้จะพบน้อยลงกว่าหน้าหนาว แต่ก็ยังพบว่าเป็นปัญหาอยู่ อาการแสดงอาจถูกกระตุ้นจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอาการ ร้อน ๆ เย็น ๆ ร่วมกับการรับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไป โดยมีอาการตั้งแต่น้อยไปถึงมาก เช่นอาการหวัดธรรมดา จนถึงหลอดลมอักเสบ ปอดบวม อาการแสดงตั้งแต่ ไอ จาม ปวดหัว ตัวร้อน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อตามตัว ดังนั้นหากไม่ต้องการป่วยจากไข้หวัดฤดูร้อน ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมโรคกลุ่มนี้ เช่น สถานที่ที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ ตลาด ดังนั้นความคิดที่ว่าควรหลบร้อนไปเดินรับแอร์เย็น ๆ ในสถานที่เหล่านี้ก็ควรระมัดระวังให้ดี หากเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ไม่สบาย ก็ไม่ควรไป แต่หากพบว่าติดเชื้อไข้หวัดเข้าแล้ว ก็ไม่ต้องตกใจมาก เพราะถึงแม้ปีนี้จะมีอุบัติการณ์ของไข้หวัด 2009 ระบาดมาระลอกหนึ่งแล้ว หากเรารู้จักดูแลตนเอง เช่น พักผ่อนให้พอเพียง ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ รับประทานอาหารร้อน ๆ หากมีไข้สูงก็กินยาพาราเซตตามอลลดไข้ ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเล็กน้อย ก็จะช่วยให้ไข้ลงได้เร็วและสบายตัวขึ้น ควรแยกนอนกับคนอื่น ๆ ในครอบครัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ ซึ่งการตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B (ซึ่งไข้หวัด 2009 นั้นอยู่ในกลุ่มสายพันธ์ A) ปัจจุบันสามารถตรวจได้รวดเร็วจากการตรวจเสมหะ โดยใช้เวลาไม่นาน ค่าตรวจก็ถูกลงมาก
โดยแพทย์จะสั่งส่งตรวจในรายที่สงสัย และให้ยาต้านไวรัส(Oseltamivir) เพื่อให้การติดเชื้อดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าค่อนข้างปลอดภัยทีเดียว ในกรณีที่บางรายอาการมาก อาจต้องระวังว่าอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แพทย์ก็มักจะสั่งยาปฏิชีวนะให้รับประทานร่วม ก็จะทำให้อาการดีขึ้นเร็ว

4.โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ผดร้อน

แทบ จะหลีกเลี่ยงกันยาก เพราะอากาศที่ร้อน สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานในห้องปรับอากาศ คงจะเหงื่อไหล ร้อน เหนียวตัว เกิดเม็ดผดผื่นคัน หรือที่เรียกว่าผดร้อน(prickly heat) หากรักษาความสะอาดผิวหนังไม่ดี ก็อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เกิดผิวหนังอักเสบ รูขุมขนอักเสบ และแผลตุ่มหนองขึ้น จากเชื้อแบคทีเรียตามผิวหนัง นอกจากนี้ยังอาจเกิดการติดเชื้อราตามจุดอับชื้นต่าง ๆ เกิด กลาก เกลื้อน
ได้ บ่อยมากขึ้นในหน้าร้อน หากเข้าเทศกาลสงกรานต์ หากมีโอกาสสัมผัสกับน้ำที่ไม่สะอาดจากการเล่นน้ำสนุกสนานกัน ก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคต่าง ๆ เหล่านี้ง่ายขึ้น ควรพยายามรักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำบ่อย ๆ ใส่เสื้อผ้าไม่หนามากเกินไป ก็จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงได้มาก กรณีหากสงสัยว่ามีการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย โดยไม่ใช่ผดร้อนธรรมดา ควรไปพบแพทย์เพื่อการรักษา

5.โรคจากสัตว์เลี้ยง หรือโรคพิษสุนัขบ้า(โรคกลัวน้ำ)

เป็น โรคที่พบบ่อยในหน้าร้อน สาเหตุจากเชื้อไวรัส Rabie ที่มีอยู่ในน้ำลายของสัตว์และติดต่อจากการถูกกัด ข่วน เลียบาดแผล โดยสุนัขจรจัด แมว หรือสุนัขเลี้ยงก็ได้หากสุนัขไม่ได้ รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำอย่างต่อเนื่องทุกปี โรคนี้ถือว่าเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงหากติดเชื้อ และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ไม่น้อยเลยทีเดียวต่อปี ดังนั้นหากถูกสุนัข แมว กัด ข่วน เลียบาดแผล ก็ควรรีบมารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที หากสงสัยว่าสัตว์เหล่านี้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือมีอาการป่วย เข้าข่ายสงสัยว่าอาจเป็นโรค แนะนำว่าควรฉีดทุกรายที่ถูกแมว หรือสุนัขจรจัดกัด ข่วน เลียบริเวณที่มีบาดแผล เพราะกลุ่มนี้ เรามักไม่สามารถสังเกตุอาการได้เหมือนสุนัข หรือแมวเลี้ยง

6.โรคเครียด-หงุดหงิด-ปวดศีรษะ

ปกติ เกิดได้ทุกฤดูแต่มักพบว่าปัจจัยด้านอากาศที่ร้อนจัด จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดอาการเหล่านี้ได้บ่อยขึ้น อาการเหล่านี้ได้แก่ ปวดศรีษะ หงุดหงิด นอนไม่หลับ ฉุนเฉียวโมโหง่าย ทะเลาะกับคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น วิธีแก้ควรแก้ที่ต้นเหตุ เช่น หลบเลี่ยงอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปที่เย็น ๆ เช่น ห้องแอร์ แต่ในภาวะโลกร้อนหากจะช่วยรณรงค์กันสักนิด ก็อาจใช้พัดลม อาบน้ำบ่อยขึ้น ปะแป้งเย็น ทำจิตใจให้สบาย ใส่เสื้อผ้าบาง ๆ ที่ระบายอากาศได้ง่าย นั่งใต้ร่มไม้ หางานอดิเรกทำ ฝึกฝนจิตใจและสมาธิให้รู้จักผ่อนหนักเป็นเบา ใจเย็น ค่อยพูดค่อยจา ก็จะทำให้ภาวะเครียดนี้ดีขึ้น หากเป็นมากก็สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อรับยาช่วยลดอาการเครียดหรือให้นอนหลับได้ดีขึ้นก็จะช่วยได้มาก

7. อาการเป็นลมจากอาการร้อน (heat stroke)

พบ รายงานอุบัติการบ่อยขึ้น จะเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในที่มีอากาศร้อนจัด อบอ้าวการถ่ายเทของอากาศรอบตัวได้ไม่ดี ถึงแม้เหงื่อจะช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย แต่บางครั้งอากาศที่ร้อนมาก อบอ้าว ดื่มน้ำน้อยก็จะทำให้มีโอกาสเป็นลมจากอากาศร้อนได้มากขึ้น เพราะเส้นเลือดส่วนปลายขยายตัวมากในสภาวะอากาศภายนอกที่ร้อนจัด หากผู้ป่วยดื่มน้ำน้อย ความดันโลหิตที่ต่ำลงจากการขยายตัวของหลอดเลือดในกรปรับตัว มักทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนกลางลดลง เกิดอาการวิงเวียนหน้ามืดและเป็นลมล้มลงในที่สุด การรักษาคือให้นอนราบ ปลอดเสื้อผ้าให้หลวม ย้ายผู้ป่วยไปในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ค่อย ๆ ทำให้อุณหภูมิกายลดลง เช่น การเช็ดตัวด้วยน้ำก็จะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นควรนำส่งโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน


ทำอย่างไร เพื่อให้หน้าร้อนนี้มีสุขภาพดี ไม่ต้องเสี่ยงกับโรคเหล่านี้
9 ข้อแนะนำและควรปฎิบัติสำหรับหน้าร้อนนี้

1.เลือก การบริโภค อาหาร น้ำ ที่สุกและสะอาด พิถีพิถันในการเลือกอาหารสด เนื้อ หมู ไก่ ปลาก่อนปรุง ควรสด สะอาด ไม่บูดเสียสภาพ ก่อนนำมาปรุงอาหาร อาหารบางอย่างที่ต้องการความสด เช่น อาหารทะเล ควรต้องระวังการปนเปื้อนกับน้ำยาฟอร์มาลิน หากไม่แน่ใจไม่ควรซื้อมารับประทาน

2.รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอย่างพอเพียง อย่างน้อยประมาณ 6-8 แก้ว ต่อวันขึ้นไป

3.เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้ เหมาะสม สำหรับหน้าร้อนควรเลือกใช้ผ้าบาง ๆ หรือประเภทที่ถ่ายเทความร้อนได้ง่าย เช่น ผ้าฝ้าย ซึ่งระบายความร้อนได้ดี เลือกสีอ่อน ไม่สวมใส่สีดำซึ่งจะอมและดูดความร้อน ใช้สีโทนเย็น เช่น ฟ้า เขียว จะช่วยให้จิตใจสบาย ร่วมกับการเปิดหน้าต่างประตูบ้าน ให้โล่ง ระบายถ่ายเทความร้อนให้ดี

4.อาบน้ำบ่อยขึ้น ปะแป้งเย็น ปรับสภาพแวดล้อมที่พักอาศัย ให้เหมาะกับฤดู เปิดหน้าต่าง ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา เปิดเครื่องปรับอากาศ พัดลม หากจำเป็นแต่ให้เหมาะสม

5.หลีก เลี่ยงการออกนอกบ้านหากไม่มีกิจธุระ ที่จำเป็น เป็นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศร้อนจัด แดด ลดการใช้น้ำมันซึ่งช่วยลดโลกร้อนไปด้วยในตัว เวลาที่แนะนำไม่ควรออกก็คือช่วงที่ร้อนจัดราว 11.00-14.00 น. ซึ่งเป็นช่วงร้อนจัดของวัน หากจำเป็นต้องออกควรหาหมวกสวมใส่ เตรียมน้ำดื่ม รวมถึงการดื่มน้ำมาก ๆ และบ่อย ๆ เพื่อชดเชยการเสียเหงื่อ อาศัยร่มเงาไม้ช่วยก็พอช่วยคลายร้อนลงได้มาก

6.งดดื่มแอลกอฮอล์หรือ เครื่องดื่มที่ผสมแอลกกอฮอล์ทุกประเภท เพราะยิ่งอากาศร้อนอบอ้าวมากการดูดซึมแอลกอฮอล์จะสูง ร่างกายจะสามารถซึมผ่านแอลกอฮอล์เข้ากระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้น ปัสสาวะบ่อย ขาดน้ำ น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ ซึ่งร่างกายอาจปรับตัวใม่ทันทำให้ป่วยได้ง่าย

7.ดูแลสัตว์เลี้ยงให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสียงของตนเองและผู้อื่น

8.ฝึกสมาธิ หางานอดิเรกเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ลดภาวะเครียด หงุดหงิดลงได้ดี

9.หาก เกิดปัญหาเจ็บป่วยด้วย 7 โรคที่พบบ่อยหน้าร้อนดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นอันตรายและมีอาการมากขึ้น


หากเราสามารถทำตามข้อแนะ นำซึ่งเน้นไปในแนวทางป้องกัน ปรับตัว และรักษาด้วยตนเองแบบปฐมภูมิก่อนได้ตามที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น จะช่วยให้หน้าร้อนนี้ เรามีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี ไม่เจ็บป่วย เสมือนคำกล่าวว่า อากาศร้อน กาย-ใจไม่ร้อน ก็ไม่เจ็บป่วย ครับ

อาจารย์นายแพทย์ ศักดา อาจองค์, พบ, บธบ.
SAKDA ARJ-ONG, MD, BBA, MS.ICT
PHD program of clinical epidemiology,
Pediatrist, Pediatric Cardiologist & Intervention Ped.Cardiology
Family physicians, Emergency physicians.
Certificates in Pediatric Emergency Medicine,
Emergency Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น