วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์ข่าวแมงมุมกัดหนุ่มใหญ่ภูเก็ตเสียชีวิตจริงหรือ ?

# ข่าวหนุ่มภูเก็ตซวย!! ถูกสัตว์มีพิษกัดเสียชีวิต คาดแมงมุมสีดำกัด #
เก็บตกจากช่วง X-Ray ข่าว รายการพบหมอรามา 25 มกราคม 2555 ทาง TrueVision 80
เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา น.ส.ปิยะนันท์ บุญศรี อายุ 30 ปี ภรรยาของนายวันชัย วงศ์ละคร อายุ 30 ปี ได้ติดต่อขอรับศพสามีออกจากที่โรงพยาบาลถลาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่จังหวัด สกลนคร หลังเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บเนื่องจากถูกสัตว์ไม่ทราบชนิดกัด

น.ส.ปิยะนันท์ซึ่งตั้งท้อง 8 เดือน ภรรยาของนายวันชัย เล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 22 ม.ค.สามีซึ่งมี อาชีพขายผลไม้บ้านเดิมอยู่จังหวัดสกลนคร กลับเข้าบ้านพักเลขที่ 190/14 ม.4 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง ต่อมาเมื่อเวลา 20.00 น.พบว่านายวันชัยมีอาการปวดที่บริเวณแขนขวามากจนไม่สามารถยกแขนได้ ที่ใต้รักแร้พบว่ามีรอยเป็นจ้ำสีแดงคล้าย ถูกสัตว์กัด จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลถลาง

แพทย์ได้สอบถามอาการและให้ยาแก้ปวดมารับประทาน แล้วให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน พร้อมนัดให้ไปตรวจอีกครั้ง ในเวลา 08.00 น.วันที่ 23 ม.ค.55 แต่อาการเจ็บปวดไม่ดีขึ้น จนกระทั่งเวลาประมาณ 06.00 น.ยิ่งเจ็บปวดมากขึ้น จึงรีบพาเข้าพบแพทย์อีกครั้งที่โรงพยาบาล โดยครั้งนี้แพทย์ได้เจาะเลือดแล้วนำเลือดไปเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยโรค แต่ในระหว่างรอผลตรวจนายวันชัยเกิดอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก แพทย์พยายามปั๊มหัวใจ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จนนายวันชัยเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า แพ้พิษเฉียบพลันจากสัตว์ร้ายไม่ทราบชนิด

ทั้งนี้ น.ส.ปิยะนันท์ คาดว่า สามีน่าจะถูกแมงมุมสีดำกัด เพราะที่บ้านจะพบแมงมุมขนาดใหญ่สีดำเป็นประจำ ตนเคยตีตายไปแล้ว 2 ตัว ซึ่งไม่คิดว่าจะเป็นแมงมุมมีพิษอย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายวันนี้ (24 ม.ค.) นายแพทย์ศักดิ์ แท่นชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้นัดแถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของนาย วันชัยด้วย


จากประเด็นข่าว

1.แมงมุมกัดถึงกับเสียชีวิตเลยทีเดียวหรือ?

ถ้าตอบกันตามเนื้อผ้าว่ากันตรงตามข้อมูลที่ได้จากข่าว และรูปรอยกัดที่สื่อนำรูปมาเสนอ คิดว่าโอกาสเป็นไปได้น้อยมากว่าถูกพิษแมงมุมถึงตายแต่ถ้าเกิดอาการแพ้จากการกัดไม่ว่าสัตว์ตัวนั้นจะเป็นอะไรก็ตามที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงที่เรียกว่าอาการแพ้แบบอนาไฟแลคซีส(anaphylaxis)แล้วนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ แต่คงไม่ได้เสียชีวิตจากพิษของแมงมุมโดยตรง เพราะจากประสบการณ์ของผู้วิเคราะห์ข่าวเท่าที่เึยไปฝึกงานต่างประเทศมาพบว่าแมงมุมที่มีพิษร้ายแรงในไทยเรียกว่าแทบไม่มีเลยหรือจะหาทำยายังยาก ถ้ามีอาจเป็นที่หลุดรอดจากการลักลอบนำเข้ามาเลี้ยงคล้ายๆกับงูเขียวแมมบ้าในช่วงน้ำท่วมนั่นไงครับ ในออสเตรเลียหรือในหลายประเทศมีแมงมุมที่มีพิษร้ายแรงและกัดตายได้ชื่อแมงมุมแม่หม้ายดำหรืออีกชื่อหนึ่งคือ black widow จำได้ว่าเคยเห็นในขวดโหลเมื่อครั้งไปดูงานศูนย์พิษที่ออสเตรเลียครั้งเดียวเอง เมืองไทยไม่มีครับ สองถ้าวิเคราะห์ตามบาดแผลที่พบตามรูปที่นำมากับสื่อพบว่ารอยกัดเป็นจุดเดียวเล็กๆและมีร่องรอยการบวมแดงขิงอวัยวะด้านล่างที่ถูกกัด ถ้าวิเคราะจากรอยกัดต้องเป็นอะไรที่ต่อยตำเป็นรูเดียว เช่นต่อ แตน ผึ้ง แมลงป่องเป็นต้นจากที่ดูไม่พบเหล็กในซึ่งน่าจะเป็นต่อหรือแตนก็ได้ เพราะผึ้งต่อยได้ครั้งเดียวโดยจะทิ้งเหล็กในและต่อมพิษติดไว้ส่วนตัวผึ้งที่ต่อยจะตายหลังจากต่อยครั้งเดียวซึ่งไม่เห็นร่องรอยเหล็กในค้างในรายนี้ยกเว้นผู้ป่ายเอาออกได้ด้วยตนเอง แมงป่องก็อาจเป็นได้ ส่วนแมลงหรือแมงที่กัดได้ส่วนใหญ่จะทิ้งรอยเขี้ยวไว้สองรอยให้เห็นเช่นตะขาบ แมงมุม รวมไปกระทั่งถึงงูเช่นกันต้อวเห็นรอยเขี้ยวสองรอยเช่นกัน. ถ้าดูปัจจัยด้านพิษที่มีผลพบว่าโดยส่วนมากพิษแมงมุมมักมีผลต่อระบบประสาทและผิวหนังหรือบาดแผลที่กัด น้อยรายมีผลต่อระบบเลือด ผลต่อหัวใจเองก็น้อยลงไปอีกจากแผลที่พบพบแค่รอยจุดเหมือนไฝหรือขี้แมงวันมากกว่า อันนี้ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นแบบไหนไม่งั้นจะนำม่ซึ่งการวิเคราะห์สาเหตุการตายที่ผิดไป ถ้าขายผลไม้ก็มีแนวโน้มที่จะโดนต่อแตนหรือผึ้งก็เป็นไปได้สูงแต่ก็ยังสรุปไม่ได้ชัดเจน

2.สาเหตุการตายน่าจะเป็นจากอะไร ?

จากข้อมูลจากข่าวและข้อหนึ่งที่กล่าวไป ตามวิจารณญาณของผู้วิเคราะห์การตายไม่น่าจะเกิดจากพิษจากสัตว์ที่กัดนั้นโดยตรง และไม่น่าจะใช่แมงมุมแต่อาจเป็นสัตว์อื่นๆตามที่กล่าวไปเพราะภรรยาได้ยืนยันว่ามีอาการบวมแดงเฉพาะที่แขนก่อนและมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อีกประเด็นที่ต้องคำนึงไว้คือผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวอะไรที่ส่งเสริมให้อาการรุนแรงหรือเป็นเร็วร้ายแรงมากขึ้นหรือไม่ เช่นโรคตับ ติดสุราเรื้อรังโรคหัวใจโรคปอดเป็นต้น จากอาการอาจเป็นไปได้ว่าน่าจะนึกถึงสาเหตุประการหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปคืออาการแพ้แบบรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตที่เรียกว่า อนาไฟแลคซีส โดยอาการเริ่มต้นอาจจะเกิดอาการแพ้คันเล็กน้อยบริเวณที่สัมผัส ถูกกัด เป็นมากขึ้นก็อาจเป็นลมพิษ หน้าตาหูบวมตึง บริเวณอวัยวะที่ถูกกัดบวมแดงร้อน คันหรือปวด ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงมากๆจะไปรบกวนหรือหยุดการทำงานของอวัยวะหลักของร่างกายคือระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจทำให้หลอดลมหดเกร็งตัว แพ้แน่นหน้าอกหายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอกจนความดันโลหิตตกและเกิดภาวะช็อกขึ้นได้จนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ในที่สุดถ้ารักษาไม่ทันการหรือแม้กระทั่งให้การรักษาเต็มที่แล้วก็ตาม ในรายนี้ถ้าเกิดจากสาเหตุนี้อาจจะเป็นอาการแสดงที่ค่อนข้างช้าหน่อยหรือเรียกว่า late phase อาจเป็นเพราะได้รับการรักษามาบ้างบางส่วนจากแพทย์ที่ไปหารอบแรง หรือผลจากการดื่มสุราก็อาจเป็นได้ทำให้การสังเกตุอาการยากขึ้น

3.การรักษาถ้าเกิดอาการแบบนี้ควรทำอย่างไร?

ต้องอธิบายให้ทราบว่าการตอบสนองต่อพิษหรืออาการแพ้แต่ละคนไม่เท่ากันบางคนโดนตะขาบต่อยกลับปวดนิดหน่อยบางคนกลับปวดมากและแพ้รุนแรงต้องฉีดยาแก้ปวด บางคนแพ้แค่คันๆ บางคนแพ้แบบช็อกหลอดลมตีบหายใจไม่ได้ ซึ่งหากถูกสัตว์พิษกัดแนะนำว่าอย่างน้อยควรมาให้แพทย์ตรวจประเมินอาการเบื้องต้นและให้การรักษาที่เหมาะสมดีกว่าโดย

3.1ถ้าเป็นสัตว์พิษและมียาแก้พิษ เช่นงู และมีเซรุ่มแก้พิษควรให้ถ้าผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้

3.2 ตระหนักถึงอาการ ตระหนักถึงความเสี่ยงเช่น ถ้าเป็นผื่นคันเล็กน้อยอาจไม่มีอาการรุนแรงแต่ต้องหมั่นติดตามดูการเปลี่ยนแปลงหากอาการมากหรือมีโรคประจำตัวควรรับไว้รักษาตัวในรพ.หรือสังเกตุอาการใกล้ชิดอย่างน้อย 6-8ชม.จนมั่นใจว่าปลอดภัย หากเป็นงูกัดไม่แน่ใจควรรับไว้รักษาในรพ. สัตว์พิษเช่นต่อแตนผึ้ง หากถูกรุมต่อยมากกว่า10จุดในคราวเดียวมีโอกาสเสียชีวิตแบบฉับพลันทันทีได้จาก อาการแพ้รุนแรง ไตวาย ทางเดินหายใจบวม หลอดลมตีบ เม็ดเลือดแดงแตก ต้องรีบให้การรักษาเป็นการด่วนตะขาบกัดมักปวดรุนแรงแต่ไม่ถึงตายนอกจากแพ้ แมงป่องต่อยมีพิษรุนแรงสามารถทำให้เสียชีวิตได้เช่นแมงป่องช้างเป็นต้น

3.3 การรักษาอาการแพ้ที่เกิดร่วมหากรุนแรง มีอาการอนาไฟแลคซีสต้องรีบให้ยา adrenaline 1:1000 ฉีดเข้ากล้ามทันที เด็กเล็ก 0.3mL เด็กโตหรือผู้ใหญ่ 0.5 mL ร่วมกับการรักษาอื่นๆที่ช่วยประคองอาการให้รอดชีวิต เช่นการให้ยาแก้แพ้ประเภทที่ต้านฮีสตามีน ยาสเตียรอยด์เพื่อลด late phase reaction การพ่นยาขยายหลอดลม ตลอดจนเปิดเส้นให้สารนำ้เข้าหลอดเลือดเพื่อรักษาอาการความดันโลหิตต่ำหรือภาวะช็อค เป็นต้น

ยังไงในรายนี้คงต้องรอพิสูจน์จากอาการทางคลินิก การชันสูตรเพราะก่รเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติอย่าไปแตกตื่นกับข่าวเรื่องแมงมุมกัดตายมากเพราะโอกาสเป็นไปได้น้อย ตัวอะไรกัดหากเกิดอาการแพ้รุนแรงก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้ครับ ซึ่งหลายคนอาจมองข้ามปรัเด็นนี้ไปครับ

อาจารย์นายแพทย์ ศักดา อาจองค์, MD,BBA, MS.ICT,MA(Information Science)
กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
dr.sakda@gmail.com

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

'เฟซบุ๊ก' ทำผู้เล่น จิตตก! เห็นคนอื่นสุขกว่าจากการเสพภาพถ่าย

#'เฟซบุ๊ก' ทำผู้เล่น จิตตก! เห็นคนอื่นสุขกว่าจากการเสพภาพถ่าย #
X-Ray ข่าวจากช่วง พบหมอรามา 25 มกราคม 2555 ทาง TrueVision 80

​ผลวิจัยชี้ เล่น "เฟซบุ๊ก" มาก ทำให้จิตตก เหตุเห็นคนอื่นโพสต์รูปแสนสุข ทำให้คิดไปเองว่าตัวเองแย่กว่า....
​สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อ 18 ม.ค. ว่า ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์วัลเลย์ เผยผลการศึกษาล่าสุด ระบุว่า ผู้ใช้งานเว็บไซต์สังคมออนไลน์กลุ่มใหญ่ มีความเชื่อว่าบุคคลอื่นมีความสุขมากกว่าที่ตนเป็นอยู่ ซึ่งนักสังคม วิทยาอธิบายไว้ว่าการโพสต์รูปภาพเป็นต้นตอของสาเหตุดังกล่าว
 ซึ่งการโพสต์รูปภาพของกลุ่มผู้ใช้งานที่อยู่ในแวดวง เพื่อนนั้น ​ส่วนใหญ่จะเป็นภาพใบหน้าเปื้อนยิ้ม หรือออกไปทานข้าวมื้อพิเศษ เมื่อถ่ายทอดออกไปแล้ว ทำให้ผู้ที่ พบเห็นรู้สึก ต่ำต้อยด้อยค่า เพราะว่าไม่ได้มีช่วงเวลาพิเศษพร้อมๆ กับบุคคลอื่นเขา
 อย่างไรก็ดี จากการสอบถาม บุคคลที่อยู่ใน ช่วง อุดมศึกษานั้น มีความเชื่อว่า "เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ มีความสุขมากกว่าตัวเอง" เช่นเดียวกับที่ผลวิจัย ออกมาโดยกลุ่มที่ให้ ​ข้อมูลนั้น 95 เปอร์เซ็นต์ สมัครใช้งาน "เฟซบุ๊ก" มาแล้วราว 2 ปีครึ่ง และใช้เวลาท่องอยู่หน้าจอ เพื่อสอดส่องและเล่นในเว็บสังคมออนไลน์เฉลี่ยวันละเกือบ 5 ชั่วโมง

วิเคราะห์ประเด็นข่าว

ปัจจุบัน social network เป็นที่นิยม ใช้เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แต่ในบางครั้งอาจเป็นที่ที่ผู้ใช้ใช้เป็นพื้นที่ในการระบายความรู้สึกที่อึดอัดคับข้องใจถ่ายทอดให้กลุ่มเพื่อนหรือคนอื่นๆรับทราบซึ่งถ้าแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆจะมีข้อมูลที่ออกไปสองมุมมองคือมุมมองทางบวกและทางลบ ส่วนผู้รับหรือเสพสื่อที่รับนั้นกลับวิเคราะห์ว่าเป็นจุดที่ทำให้เกิดปัญหาเพราะการเสพและรับสื่อเหล่านี้นั้นต้องอาศัย พื้นฐานอารมณ์ของผู้ใช้ บุคนิสัย ความมีเหตุมีผล ทัศนคติ มุมมองส่วนบุคลและประสบการณ์ที่สั่งสมมา มาเป็นตัวช่วย ดังนั้นสื่อไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบที่รับมาก็ตามหากผู้ใช้มีภูมิต้านทานด้านความมั่นคงของอารมณ์และเหตุผลแล้ว ย่อมไม่เกิดปัญหาขึ้น แต่ถ้าสื่อเหล่านี้ตกไปให้ผู้ที่มีปัญหาเสพสื่อเหล่านี้เช่นตนเองมีบุคลิกที่ซึมเศร้า มองโลกด้านลบ หากเห็นภาพคนอื่นโพสต์อริยาบท ความคิดแนวปัจเจคซึ่งอาจถูกต้องหรือไม่ถูกต้องหรือภาพที่มีความสุขหรือโพสต์ข้อความชักชวนโน้มน้าวไปทางลบมักมีอารมณ์คล้อยตาม เกิดอาการซึมเศร้า จิตตกตามไปด้วย ดังนั้นตัวสื่อหรือเทคโนโลยีเองนั้นไม่ได้เป็นตัวปัญหาเทคโนโลยีหรือสื่อเปรียบเหมือนเหีียญสองด้าน ถ้ารู้จักใช้สร้างสรรค์ ให้เกิดประโยชน์ก็จะสร้างประโยชน์มากนานับประการ ดังนั้นควรมารณรงค์สร้างจิตสำนึกทั้งผู้ส่งและผู้รับให้เกิดภูมิต้านทานในจิตใจหรือวุฒิภาวะในเชิงบวกกันดีกว่าจะไปแก้ที่สื่อ ส่วนสื่อเองควรต้องมีระบบระเบียบในการควบคุมให้อยูในเกณฑ์มาตรฐานก็จเป็นแรงเสริมเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ลงได้มากทีเดียวครับ

อาจารย์นายแพทย์ ศักดา อาจองค์, MD,BBA, MS.ICT,MA(Information Science)
กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
dr.sakda@gmail.com

แนะวิธีดูแลปวดเมื่อยด้วยตนเอง ไม่ควรใช้ยาทาสูตรร้อนจะกระตุ้นอักเสบ

X-Ray ข่าวจากช่วง พบหมอรามา 25 มกราคม 2555 ทาง TrueVision 80
แนะวิธีดูแลปวดเมื่อยด้วยตนเอง ไม่ควรใช้ยาทาสูตรร้อนจะกระตุ้นอักเสบ
​อาการปวดหลัง ปวดเอว หรือต้นขา นับเป็นอีกหนึ่งโรคภัยที่ทำให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของ คนเรากลายเป็น เรื่องยาก บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ ‘นูโรเฟน เจล’ จึงจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “การทำงานและการออกกำลังกาย เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดของคุณ” ขึ้น ณ ศูนย์การ ค้า Digital Gateway ชั้น G เพื่อให้ความรู้ และแนะนำแนวทางที่จะช่วยป้องกัน และรักษาอาการปวดเมื่อยเบื้องต้นแก่ ผู้ที่มีปัญหาได้ด้วยตัวเอง
​โดยได้เปิดเผยว่า กลุ่มคนทำงานและ ออกกำลังกายน่าจะเป็นกลุ่มหลักๆที่ต้องประสบกับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอกของกล้ามเนื้อ หรือข้อและเส้นเอ็น ไม่ว่าจะเป็นที่มือและข้อมือ กล้ามเนื้อหลัง คอ ไหล่ เอว ดังนั้น การออกแรงกล้ามเนื้อเกินกำลัง หรือออกแรง กล้าม เนื้อ บริเวณเดิมติดต่อกันมากเกินไป หรือการยืดกล้ามเนื้อหรือเอ็นไปในทิศทางหรือระยะทางที่มากเกินไป ก็จะทำให้เกิด การอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นได้เช่นเดียวกัน เมื่อ มีอาการปวดหรืออักเสบกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน ควรหยุด การออกแรงกล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ และให้ใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบบริเวณที่บาดเจ็บหรืออักเสบภายใน 24 ชั่วโมง หลังบาดเจ็บ รวมถึงอาจจะใช้ ยาทาชนิดที่มีส่วนประกอบของยาลดการอักเสบ เพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ แต่สิ่งหนึ่งที่พึงระวังคือไม่ควรใช้ยาทาชนิดสูตรร้อน เพราะจะยิ่งกระตุ้นอาการอักเสบให้รุนแรงขึ้นสำหรับความ แตกต่าง ในการ ดูแลอาการอักเสบจากกล้ามเนื้อและเอ็นคือ การบาดเจ็บจากกล้ามเนื้อ อาจเลือกใช้ยาทานวดชนิดที่มียาแก้ อักเสบ จะช่วยลดการอักเสบที่ต้นเหตุได้ดี กว่า ส่วนการบาดเจ็บจากเอ็น เช่น เอ็นข้อศอกที่พบในนักเทนนิสนั้น จำเป็น ต้องใช้ยาทาชนิดที่มียาต้านการอักเสบซึ่งจะได้ผลมากกว่า ซึ่งยาต้านการอักเสบนั้นมีทั้งรูปแบบยาทาและยารับประทาน ในกรณีที่มีอาการอักเสบกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง สามารถเลือกใช้ทั้งยาในรูปแบบยารับประทานและยาทาต้านอาการอักเสบควบคู่กัน เพื่อเสริมการรักษาให้เร็วขึ้นได้ หรือควรพบแพทย์ผู้รักษาเฉพาะทาง.

มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดของการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกันก่อน ส่วนใหญ่สามารถแบ่งให้เข้าใจง่ายๆดังนี้

1.1 บาดเจ็บผิวเผิน ไม่รุนแรงเช่นผิวหนังถลอก (Abrasion)
1.2 เกิดการกระแทกไม่รุนแรง การเสียดสีทำให้เกิดผิวหนังพอง (Blisters)
1.3 การเกิดการฟกช้ำ (Contusion) จากมีแรงกระแทกโดยตรง ซึ่งโดยมากมาจากวัตถุแข็ง ไม่มีคม ทำให้เกิดเลือดคั่งอยู่และไม่สามารถซึมออกสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงได้ อาจมีอาการเจ็บปวด บวมร่วมด้วย การปฐมพยาบาลที่เหมะสมเบื้องต้นโดยการประคบเย็นโดยทันทีพร้อมกับกดเบาๆตรงบริเวณฟกช้ำ ความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดหยุดและบรรเทาความเจ็บปวดได้ อาการฟกช้ำนี้จะหายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปริมาณของเลือดที่ออกในชั้นใต้ผิวหนัง หลังจาก 24 -48 ชั่วโมงไปแล้ว จึงใช้ความร้อนประคบจะช่วยให้ก้อนเลือดสลายตัวได้เร็วขึ้น
1.4 เอ็นหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด (Tendon or ligament tear/strain/sprain) มักพบที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ด้านหลัง และน่อง โดยแบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับคือ
1.4.1 ระดับที่หนึ่ง กล้ามเนื้อฉีกขาดเล็กน้อย จะมีการบาดเจ็บเล็กน้อย อาจบวมหรือไม่บวมก็ได้ ปกติสามารถหายภายใน 3 วันโดยใช้ผ้ายืดพันยึดส่วนนั้นเอาไว้
1.4.2 ระดับที่สอง กล้ามเนื้อฉีกปานกลาง กล้ามเนื้อยังทำงานได้บ้าง จะมีอาการปวดบวม ต้องพันยึดด้วยผ้ายืดและใส่เฝือก โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
1.4.3 ระดับที่สาม กล้ามเนื้อฉีกขาดสมบูรณ์ กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้ บวมและปวดรุนแรง คลำดูจะพบรอยบุ๋มใต้ผิวหนัง จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อเย็บต่อส่วนที่ขาด และใช้กายภาพบำบัดเข้าช่วย
หลักการปฐมพยาบาลและบำบัดรักษากล้ามเนื้อฉีก แบ่งเป็น 2 ระยะคือ

1. ระยะแรก ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ให้ใช้หลัก “RICE” ดังนี้

R = Rest ให้พักโดยเฉพาะส่วนที่บาดเจ็บ
I = Ice ใช้น้ำแข็งประคบส่วนที่บาดเจ็บ ครั้งละ 20 – 30 นาที วันละ 2 – 3 ครั้ง
C = Compression พันกระชับส่วนนั้นด้วยม้วนผ้ายืด ควรใช้สำลีรองก่อน หลักการพันคือพันจากส่วนปลายมาหา ส่วนต้น (เวลานอนไม่ต้องพัน)
E = Elevation ยกส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลกลับหัวใจ เป็นการช่วยลดอาการปวดบวม

2. ระยะที่สอง นานเกิน 24 -48 ชั่วโมง ผู้บาดเจ็บเริ่มทุเลาแล้ว จะใช้ความร้อนและวิธีทางกายภาพบำบัด โดยใช้หลัก “HEAT” ดังนี้

H = Hot ใช้ความร้อนประคบ โดยเฉพาะความร้อนลึก(เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัด) หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนก็ได้
E = Exercise ลองขยับเขยื้อนส่วนที่บาดเจ็บดูเบาๆ เป็นการบริหารส่วนที่บาดเจ็บและทำการบีบนวดไปด้วย
A = Advanced Exercise ระยะหลังๆ บริหารให้มากขึ้น อาจมีผู้ช่วยในการบริหารส่วนที่บาดเจ็บ หรือใช้อุปกรณ์ช่วยในการออกกำลังกาย
T = Training for Rehabilitation

1.5 อาการตะคริว (Cramp) เกิดจากการเกร็งตัวชั่วคราวของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นแข็งเกร็งและมีอาการปวดจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาไม่นานก็จะหายไปเอง แต่อาจเกิดเป็นซ้ำที่เดิมอีกก็ได้ ในบางครั้งกล้ามเนื้ออาจเป็นตะคริวพร้อมๆกันหลายๆมัดก็ได้ เกิดจากหลายสาเหตุเช่น ร่างกายขาดเกลือแร่ ฝึกซ้อมนานเกินไป สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม รวมทั้งการใช้ผ้ายืดรัดบนกล้ามเนื้อค่อนข้างแน่นทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี การป้องกันทำได้โดยพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุดังกล่าว การปฐมพยาบาลโดยการให้หยุดออกกำลังกายในทันที ให้ค่อยๆ เหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวอย่างช้าๆ นุ่มนวล ใช้ความร้อนประคบเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณนั้นมากขึ้น

1.6 กล้ามเนื้อระบม (Muscular Soreness) แบ่งเป็น 2 แบบคือ

1.6.1 การระบมแบบเฉียบพลัน (Acute Soreness) ที่เกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายในทันทีทันใดภายหลังการออกกำลังกาย สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อมีความตึงตัวสูง เลือดไหลไปเลี้ยงไม่พอ (Ischemia) ทำให้ไม่สามารถขจัดของเสียได้ทัน จะมีอาการเจ็บปวดในกล้ามเนื้อ
1.6.2 การระบมที่เกิดขึ้นภายหลัง (Delayed Soreness) เป็นการระบมที่เกิดขึ้นหลังจากหยุดออกกำลังกายไปแล้ว 24 -48 ชั่วโมง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากกล้ามเนื้อ เอ็น เกิดความเสียหายระหว่างที่ออกกำลังกาย
การป้องกันกล้ามเนื้อระบม ทำได้โดยการอบอุ่นร่างกายให้เพียงพอ ปรับปรุงวิธีการออกกำลังกายโดยเริ่มต้นแต่น้อยแล้วค่อยเพิ่มขึ้นในภายหลัง

ยาที่เป็นประเด็นสำคัญที่พูดถึง

ยานวดร้อน(Analgesic balm) ยี่ห้อที่รู้จักกันดีเช่น counterpain เป็นยานวดแก้ปวดเมื่อย แบบ ธรรมดา เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ เบาๆ โดยยา จะออกฤทธิ์ ทำให้เกิดความร้อนบริเวณที่ปวดเมื่อย ทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่ปวดมากขึ้น ทำให้หายจากการปวดเมื่อยโดยไม่มียาต้านอักเสบเป็นส่วนผสม ในทางเภสัชศาสตร์เราเรียกว่า ยาออกฤทธิ์ แบบ counter-irritant ซึ่งจะไม่เหมาะในช่วงแรกของการบาดเจ็บ การประคบเย็นจะให้ผลดีกว่า ในปัจจุบันมีการทำ ยานวดสูตรเจลชนิดเย็น ที่มักมีคำว่า cool มาด้วย...ทาแล้วจะเย็น แต่ก็ออกฤทธ์ เหมือนกัน ซึ่งบางครั้งการมห้ความเย็นอาจน้อยกว่าสั้นกว่าการประคบน้ำแข็งเสียด้วยซ้ำ
ยานวดที่เข้าสูตรยาต้านการอักเสบ ซึ่งในปัจจุบันมักเป็นยากลุ่มที่ไม่เข้าเสตียรอยด์ หรือที่ได้ยินติดปากว่า NSAIDs เช่น Voltaren gel, Reparil gel หลายๆตัวนั้น เป็นยานวดแก้ปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ ที่มีตัวยา NSAIDs ผสมอยู่ สูตรพวกนี้ทาแล้วจะรู้สึกเย็น ยา NSAIDs จะออกฤทธิ์ ลดการอักเสบ ของกระดูกและกล้ามเนื้อในทางเภสัชวิทยาเราเรียกว่าออกฤทธิ์ anti-inflammatory
เวลาที่เราจะเลือกในการใช้ ก็ต้องวิเคราะห์อาการของเราเองดูว่าปวดเมื่อย แบบไหน รุนแรงไม่รุนแรง ถ้าไม่รุนแรงมาก ถ้าไม่ใช่กล้ามเนื้ออักเสบเป็นแค่ปวดเมื่อยธรรมดา ก็ใช้แค่ ยานวดสูรร้อนต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายทั่วๆไปได้ แต่ถ้าปวดมาก กล้ามเนื้ออักเสบ ฉีกขาดแต่ไม่รุนแรงมากก็ให้ใช้หลักการของ RICE และ HEAT ในการเลือกใช้ยาสำหรับกลุ่มนี้ให้ใช้ NSAIDs gel หรือจะใช้ทั้งสองอย่างคู่กันก็ได้ตามความเหมาะสม. พึงระลึกไว้เสมอว่าหากการบาดเจ็บรุนแรงเช่นเอ็นหรือกล้ามเนื้อฉีกขาดเกิดขึ้นการใช้ยานวดไม่ว่าสูตรเย็นหรือสูตรร้อนไม่สามารถช่วยได้เบ็ดเสร็จจำเป็นต้องอาศัยการเข้าเฝือกหรือการผ่าตัดร่วมในบางกรณีดังนั้นจึงควรเข้ามาพบ ปรึกษาแพทย์หากมีอาการรุนแรงมากขึ้นจึงเป็นการเหมาะสมกว่า

อาจารย์นายแพทย์ ศักดา อาจองค์, MD,BBA, MS.ICT,MA(Information Science)
กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
dr.sakda@gmail.com